Rangsiman Ketkaew

Ph.D. Student in Computational Chemistry and Machine Learning at UZH

Posted by on

Category : ski   sports

ski-1 ใน blog นี้ผมจะมาขอเก้าอี้ แห้! ขอแชร์!!ประสบการณ์การเล่นสกีของผมแบบละเอียดสุด ๆ จากคนที่เคยเล่นสกีวันแรกแล้วล้มจนเลิกเล่นไป 2 ปี แล้วอยู่ดี ๆ ก็มาฮึดสู้ฝึกเล่นอีกครั้ง จนผ่านทั้ง blue, red, black slopes ในสวิตเซอร์แลนด์มาแล้ว ผมอธิบายแบบละเอียดไม่มีกั๊ก จะโหด มันส์ ฮา ขนาดไหน ก็ไปลุยอ่านกันได้เลย ;) (ขอสปอล์ยไว้ก่อนเลยว่ามันไม่ง่ายเลยสำหรับทางสายนี้ แต่รับรองว่าถ้าใครได้อ่านแล้วจะได้แรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน!!)


1. สโลปแรกที่ไม่มีวันลืม

ผมเริ่มหัดเล่นสกีครั้งแรกในช่วงฤดูหนาวปลายปี 2020 ตอนนั้นเพื่อน ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์จัดทริปไปเล่นสกีกันที่เมือง Davos นั่งรถไฟไปประมาณ 2 ชั่วโมงจากซูริค ไปกัน 3 วัน 2 คืน (เล่นจริง ๆ 2 วัน) วันแรกไม่มีอะไรมาก ก็แค่เดินทางไป Davos เข้าที่พักแล้วตอนเย็นก็ทำอาหาร เล่นไพ่ ตามปกติ เช้าวันที่ 2 อากาศสดใส ผมกับเพื่อนที่ไปด้วยกันมีกันทั้งหมดประมาณ 8 คน ซึ่งมี 4 คนที่เล่นสกี/สโนว์บอร์ดพอได้แล้ว ส่วนอีก 4 (รวมผมด้วย) ยังเล่นไม่เป็นกันเลย เราเลยตัดสินใจจ้างครูสอนสกีในช่วงเช้าประมาณ 2 ชั่วโมง

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรียน 2 แค่ชั่วโมงมันไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ ผมคิดว่าถ้าจะเรียนสกีมันต้องเรียนต่อเนื่องเต็มวันไปเลยสัก 1-2 วัน ถึงจะพอจับหลักได้ แล้วก็ถ้ายิ่งรวมกลุ่มกันไปหลายคนแล้ว ยิ่งเรียนได้ช้าเพราะว่าครูสอนจะต้องสอนไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เสียเวลา แต่แน่นอนว่าถ้าจ้างมาสอนแบบตัวต่อตัวก็แพงเกินไป ดังนั้นเรียนเป็นกลุ่มกับเรียนคนเดียวมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ซึ่งเราตัดสินใจเรียนกันแค่ 2 ชั่วโมงในตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายก็จะฝึกกันเอง

ทีนี้มาถึงตอนช่วงบ่ายเราก็ลองเล่นกันเอง แต่ว่ายังเล่นอยู่บน slope เตี้ย ๆ ซึ่งไม่ค่อยชันเท่าไหร่ ระยะทางประมาณ 200 เมตร สามารถเล่นได้ฟรี (slope คือทางเล่นสกีที่ทางสกีรีสอร์ตได้เตรียมไว้ให้เราเล่นแล้ว ถ้าเป็นภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า piste) ก็พอถู ๆ ไถ ๆ ไปได้ ตอนนั้นผมพอที่จะเลี้ยวได้แบบช้า ๆ ก็คือยังหัดเลี้ยวหัดเบรคอยู่เลย คือตอนนั้นมันท้อมาก เห็นคนอื่นเค้าเล่นกันอย่างมันส์ เราอยากเล่นให้ได้แบบนั้นเอง แต่ว่ามันเล่นไม่ได้ ยังเลี้ยวไม่คล่อง ยังเบรคไม่อยู่เลย ยังไม่กล้าลอง slope ชัน ๆ คือมันกลัวไปหมด แล้ววันแรกก็ผ่านไป..

พอมาวันที่สอง เพื่อนคนอื่น ๆ ที่เล่นด้วยกันก็เริ่มลองขึ้น chair lift เพื่อขึ้นไปลองเล่นบน slope จริง ๆ กันแล้ว โดย slope แรกที่จะลองกันก็คือ blue slope ซึ่งเป็นระดับที่ง่ายที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงออสเตรียกับอิตาลี (ถ้าเป็นฝรั่งเศสกับอเมริกาจะเริ่มที่ green slope แล้วก็มีไปถึง double black เลย) คือผมก็อยากลองเล่นบ้างถึงแม้ว่าใจนึงก็กล้า ๆ กลัว ๆ เพราะว่าเรายังเลี้ยวไม่ได้แล้วก็ยังเบรคไม่คล่องเวลาที่ต้องสกีลงมาเร็ว ๆ แต่ก็เหมือนกับว่า เอาวะ ลองสักครั้ง ไหน ๆ ก็มาเล่นแล้ว ไปตายเอาดาบหน้าก็แล้วกัน

ผมตัดสินใจนั่ง chair lift ไปกับเพื่อนอีกคนนึงเพื่อขึ้นไปเล่น blue slope แรกในชีวิต ใจเต้นตึก ๆ ตัก ๆ พอ lift ขึ้นไปถึง station ด้านบนเท่านั้นแหละ โอ้โห มันโคตรสูงโคตรชันเลย ขาสั่น กลัว แต่ว่าตัดสินใจขึ้นมาแล้วก็ต้องลุยกันต่อไป คือ slope อันนี้มันไม่ได้ยาวเลย สั้นมากเมื่อเทียบกับ slope อื่น ๆ สำหรับคนที่เล่นเป็นแล้วก็คงใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีในการสกีลงไปถึงข้างล่าง คือมันชันมาก ๆ ผมก็พยายามรวบรวมสติแล้วก็สกีเลี้ยวออกมาจาก station เพื่อไปจุดเริ่มต้นของ slope ซึ่งแค่นี้มันก็ยากแล้วเพราะว่าพอออกมาจาก lift ปุ๊บผมก็ต้องหักเลี้ยวขวาเลย แล้วทีนี้ก็รวบรวมความกล้าเริ่มสกีลงไป พอลงไปได้ประมาณ 5 เมตรเท่านั้นแหละครับ ล้มไม่เป็นท่า เพราะช่วงเริ่มต้นมันชันมาก ๆ ตอนผมล้มก็คือตัวผมหมุนกลิ้งไปประมาณ 2-3 รอบ สกีก็หลุดจากขาทั้งสองข้างเลย แต่ว่าโชคดีที่ไม่บาดเจ็บอะไร คือตอนนั้นบอกกับตัวเองว่า ไม่เอาแล้ว พอแล้ว ไม่เล่นแล้ว ไม่อยากเล่นอีกต่อไปแล้ว ผมเลยตัดสินใจเดินลงครับ ใช่แล้ว ผมยอมเดินแบกสกีลงไปถึงข้างล่าง slope แล้วในช่วงครั่งวันบ่ายของผมนั้นก็ไม่สนุกอีกเลย ผมนั่งรอเพื่อนคนอื่นเล่นจนเสร็จ คือแทบอยากจะกลับแล้ว เพราะอยู่ไปก็ไม่สนุก ขอตัดขาดกับกีฬาชนิดนี้ตลอดไป ซึ่งนั่นก็ทำให้ winter season แรกของผมช่วงปี 2020/2021 กับ season 2021/2022 นั้นผมไม่ได้เล่นสกีหรือกีฬาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับหิมะอีกเลย...

2. ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ

หลังจากหยุดเล่นกีฬาทุกชนิดที่เกี่ยวกับหิมะไป 2 season... อยู่ดี ๆ ก็ไม่รู้ว่าอะไรดลจิตดลใจให้ผมต้องกลับมาเจอกับมันอีกครั้ง ใช่แล้ว สกี! ในช่วง winter season 2022/2023 เดือนมกราคม เพื่อนผมก็ชวนผมไปเล่นสกีอีกรอบ คือภาพในวันเก่า ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้วมันก็ลอยเข้ามาในหัวเลย แต่อีกใจนึงก็ยังอยากเล่นให้ได้ ผมถามตัวเอง ลองคิดดูว่าถ้าเราเล่นสกีได้มันจะสนุกขนาดไหน ฟิลลิ่งมันคงสุดยอดมาก ๆ ได้เห็นวิวสวย ๆ ได้สัมผัสหิมะนุ่ม ๆ ได้ท้าทายกับความเร็ว สัมผัสอากาศเย็น ๆ แล้วเรามาอาศัยอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ทั้งที ถ้าไม่เล่นสกีแล้วจะทำให้อะไร ถ้ามานั่งบ่นทีหลังก็คงเสียใจไม่น้อย ดังนั้นผมเลยตอบตกลงเพื่อนไป แล้วก็ตัดสินใจเอาสกีไป service พร้อมออกลุยอีกครั้ง

เริ่มต้นวันแรก.. มันเหมือนต้องมาเริ่มใหม่หมดเลย คือจากทริปล่าสุดที่ Davos ความทรงจำของผมมันมีแค่ตอนที่ล้มบน slope เท่านั้นเอง มันจำความรู้สึกแรกตอนที่หัดเลี้ยว หัดเบรคไม่ได้แล้ว ซึ่งส่วนนั้นจริง ๆ มันเป็นความทรงจำที่ดีมาก ๆ สำหรับทริปสกีแรกของความพยายามครั้งที่ 2 ของผมหลังจากที่หยุดเล่นไป 2 ปีนั้นเกิดขึ้นที่สกีรีสอร์ตที่ชื่อว่า Flumserberg เดินทางด้วยรถไฟไม่นานเท่าไหร่ แค่ 1.5 ชั่วโมงจากซูริค เพื่อนคนอื่น ๆ ที่ไปด้วยกันในทริปนี้มีประมาณ 5 คน และทุกคนเล่นสโนว์บอร์ดหมด มีแค่ผมคนเดียวที่เล่นสกี พอไปถึงรีสอร์ตผมก็เริ่มจาก slope ของเด็กก่อนที่เค้ามีไว้ให้ฝึกเล่นได้ฟรี คือ slope มันสั้นมาก ๆ ประมาณ 30 เมตรน่าจะได้ เป็นเนินเล็ก ๆ ที่เอาไว้ให้คนที่เพิ่งหัดเล่นได้มาลอง คือเอาจริง ๆ มันไม่ช่วยอะไรมากหรอก แค่มันทำให้ผมได้ลองหัดเลี้ยวกับหัดเบรคพื้นฐานอีกครั้ง ซึ่งผมยังพอจำ concept ได้จากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

พอถึงตอนเที่ยงเราก็พักกินข้าวกลางวันกัน หลังจากนั้นตอนบ่ายก็คุยกันว่าจะลองขึ้นไปเล่นบน slope จริง ๆ กัน ซึ่งมันเป็น blue slope ที่ง่ายที่สุดแล้ว มีความยาวน่าจะประมาณ 1 กิโลเมตรได้ ตอนนั้นก็ตื่นเต้นและกลัว เพราะว่าภาพจากครั้งที่แล้วที่ Davos มันยังติดตาอยู่เลย แต่ก็เป็นไงเป็นกัน ในระหว่างที่นั่งกินข้าวเที่ยวและนั่ง lift ขึ้นมานั้น ผมนึกยังไงไม่รู้ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วก็เปิด YouTube หาคลิปสอนสกีดูตอนนั้นเลย ผมจำได้ลาง ๆ ว่าคลิปแรกที่ผมดูคือสอนการเลี้ยว แล้วพอดูเสร็จเราก็เพิ่มจับหลักการได้จากที่ในคลิปวิดีโอสอน คือที่เรารู้มากมันผิดเกือบหมดเลย ผมก็เลยกะว่าจะขึ้นไปลองหัดเล่นตามที่ดูคลิปมา แล้วพอกินข้าวเสร็จก็ซื้อ ski pass สำหรับครึ่งวันบ่ายขึ้นไปเล่น พอขึ้น lift ไปถึงข้างบนแล้วเริ่ม ski ออกมาจาก lift ความรู้สึกแรกเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วมันเปลี่ยนไป ผมมีความรู้สึกว่ามันตื่นเต้นน้อยกว่า อาจจะเพราะว่าไปกันหลายคน เลยรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น หรืออาจจะเป็นเพราะว่า slope ที่นี่มันง่ายกว่า คือมันก็ชันในช่วงแรก แต่ว่ามันไม่ชันเท่าที่ Davos ที่นี้พอเริ่มสกีผมก็ลองทำตามคลิปสอน ปรากฎว่า เห้ย มันช่วยให้เราเลี้ยวได้!! คือคลิปที่ผมดูมันเป็นคลิปที่สอนเลี้ยวแบบ snow plough turn ยังไม่ใช่แบบ parallel turn ซึ่งตอนนั้นดีใจมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เนื่องจากว่ามันเป็น blue slope อันแรกที่ผมได้ลองหัดเล่นและเล่นจนมาถึงข้างล่างได้เป็นครั้งแรก มันก็มีล้มแล้วก็มีความทุลักทุเลพอสมควร แต่นั่นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้มุมมองของผมที่ผมมีต่อสกีเปลี่ยนไป ซึ่งกลายเป็นว่า "เห้ย ถ้าเราเล่นมันอย่างถูกวิธี มันก็สนุกนี่หว่า"

หลังจากจบ run แรกไป ก็ได้เล่นอีก 2 run ด้วยกันแต่ก็ยังเป็น slope เดิมอยู่ หลังจากที่สกีวันนั้นเสร็จแล้ว ก็กลายเป็นว่าผม addict กับสกีเอามาก ๆ แล้วก็มีทริปสกีอื่น ๆ ตามมาอีกหลายทริปเลย พูดง่าย ๆ ว่า ต้องขอขอบคุณ Flumserberg ที่ทำให้การเล่นสกีของผมเปลี่ยนไป

3. ก็ผมมันเนิร์ด.. จุดเปลี่ยนในการหัดเล่นสกี

ตามที่ผมได้เกริ่นไว้เมื่อกี้นี้ว่าผมดูคลิปวิดีโอ YouTube ที่สอนเล่นสกีแล้วก็ฝึกตาม ใช่แล้วครับ ไม่มีใครมาสอนผมเล่นแบบซึ่ง ๆ หน้าเลย ผมดู YouTube อย่างเดียว ฟังดูแล้วอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วมันจะเวิร์คหรอ? ทำไมไม่ไป take course หาครูมาสอนล่ะ คำตอบก็คือ ผมอยากประหยัดเงินค่าคอร์สสกี 5555 ซึ่งมันก็จริงนะ เพราะว่าค่า ski pass ในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแพงใช้ได้เลย ถ้าผมหัดเล่นตามที่มีคนลงคลิปสอนไว้ใน YouTube มันก็จะช่วยผมประหยัดไปได้เยอะ อีกอย่างนึงที่ผมใช้ในการฝึกการเล่นสกีก็คือ การหัดสังเกต ก็คือดูว่าคนอื่นที่เค้าเล่นกันเก่ง ๆ เค้าเล่นยังไง ดูการขยับขา ดู movement ของช่วงล่างและลำตัว แล้วก็ถ้าในช่วงเวลาว่าง ๆ ผมก็ดูคลิปสกีใน Instagram บ้างหรือใน Facebook บ้าง แล้วก็ชอบดูพวกคลิปที่คนไปเล่นสกีตามที่ต่าง ๆ มาลงไว้ใน YouTube คลิปไหนที่เขาสอนดีผมก็จะกด save ไว้ใน playlist ส่วนตัวของผม ผมก็นั่งดูซ้ำไปซ้ำมา ปรับ speed ให้ช้าลงแล้วก็ดูว่าเขาเล่นยังไง แล้วพอถึงช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ผมก็ไปเล่นสกีแล้วก็ฝึกตามที่เราได้ดูมาจากในคลิป

จริง ๆ แล้วการดูคลิปวิดีโอแล้วมาถึงตามถึงแม้ว่ามันจะประหยัดเงินแต่มันก็มีข้อเสีย นั่นก็คือถ้าเราไปดูคนที่เขาสอนแล้วอธิบายไม่ดี พอเรามาฝึกตามมันก็ไม่เวิร์ค กลายเป็นว่าอาจจะเสียเวลามากขึ้น นอกจากนั้น พอเราดูไปหลาย ๆ คลิปจากหลาย ๆ แชนแนล ปัญหาคือเค้าสอนกันคนละแบบ กลายเป็นว่าเราอาจจะงงได้ว่าควรทำตามคนไหนดี ซึ่งถ้าหากว่าเราไป take course จากโรงเรียนสอนสกี ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า (ถ้าเรารับได้) แต่ก็คุ้มมาก ๆ เพราะว่ามีคนมาสอนให้เราซึ่ง ๆ หน้าเลย ถ้าเราเล่นผิด ครูที่สอนก็จะช่วยบอกวิธีการเล่นที่ถูกให้เราได้ อีกอย่างนึงที่ผมคิดว่าไม่เวิร์คนั่นก็คือ เรามักจะให้เพื่อนหรือคนที่เคยเล่นมาก่อนแล้วมาสอนให้เรา ซึ่งมันไม่ถูกต้องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้ววิธีการเล่นสกีที่ถูกต้องนั้นมันต้องเรียนจากคนที่สอนสกีเป็นจริง ๆ ถ้าเราให้เพื่อนเราสอน อ่ะเราก็เล่นได้ แต่ว่ามันอาจจะเป็นวิธีการเล่นที่ผิด เพราะถ้าหากเราเปรียบเทียบการเล่นสกีของเรากับของคนส่วนใหญ่ ถ้ามันต่างกันแสดงว่าเราเล่นไม่ถูกต้อง แล้วถ้าหากว่าเราฝืนเล่นไปเรื่อย ๆ ร่างกายหรือสมองของเรามันก็จะจำการเล่นแบบผิด ๆ อันนั้นไปเรื่อย ๆ แล้วถ้าหากว่าเราจะมาแก้ทีหลังก็อาจจะยากมากขึ้น

ผมไม่ได้จะบอกว่าการดูคลิปที่สอนบน YouTube นั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นวิธีที่เหมาะกับผมมากที่สุด ผมนั่งดูหลายคลิปมาก ๆ เรียกว่าเป็นร้อย ๆ คลิปเลย แล้วผมก็มานั่งสังเกตแล้วก็วิเคราะห์แต่ละคลิป ดูว่าคลิปไหนที่อธิบายเข้าใจและสมเหตุสมผล เพราะว่ามันก็มีคลิปที่คนสอนเค้าเล่นสกีได้ แต่ว่าเค้าอธิบายไม่ดีหรือว่าเทคนิคที่เค้าสอนนั้นเอาไปทำตามได้ยาก เราก็ต้องมานั่งเลือกดูดี ๆ ว่าเราจะเล่นตามคลิปไหนได้ ถ้าถามว่าที่เค้าสอนไม่เหมือนกันนั้นมันผิดไหม จริง ๆ มันไม่ผิดหรอก (อาจจะมีผิดบ้างบางคลิป) เพราะว่ารูปแบบการเล่นหรือ style การสกีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราเปรียบเทียบ style ของแต่ละประเทศจากคลิปงาน InterSki ซึ่งเป็น event ที่แต่ละประเทศจะส่ง Demo team ของตัวเองมาแล้วมาโชว์ style การเล่นสกีของประเทศตัวเอง ก็จะเห็นว่าแต่ละประเทศจะมี style เป็นของตัวเอง นอกจากนี้การเล่นสกีมันมีเทคนิคที่เยอะมาก ๆ ทั้งการเลี้ยวแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น short turn, medium turn, long turn (carving), การฝึกเล่นบน slope ที่มี terrain หรือความชันที่ต่างกัน เป็นต้น ถ้าหากว่าเราค่อย ๆ พยายามฝึกไป ไล่จากง่ายไปยาก ก็จะทำให้เราเล่นสกีได้คล่องขึ้น

จากที่ผมไล่ดูคลิปสอนสกีบน YouTube มาแบบเยอะมาก ๆๆๆๆๆ ผมได้ทำ playlist แล้วก็เลือกคลิปที่ผมคิดว่าดีและเหมาะที่สุดสำหรับการเริ่มเรียนรู้ที่จะเล่นสกี เรียงลำดับจากง่ายไปยาก ขอบอกก่อนว่า playlist ด้านด้านล่างนี้เรียงตามความเข้าใจของผมเอง โดยผมเลือกคลิปที่อธิบายได้สั้น กระชับ และเทคนิคต่าง ๆ ที่อธิบายก็ใช้ได้จริง (ก็คือผมดูคลิปแล้วผมก็ไปฝึกเล่นตาม) โดยใน playlist ของผมจะไล่ตั้งแต่คลิปที่สอนท่าการเล่นแบบ basic ไปจนถึง advanced เลย


"Let’s Skiing ⛷️: Basic"



"Let’s Skiing ⛷️: Parallel Turn"



"Let’s Skiing ⛷️: Short Turn"



"Let’s Skiing ⛷️: Carving"



"Let’s Skiing ⛷️: Techniques"


4. ฝึก ฝึก ฝึก แล้วก็ฝึก

วิธีเดียวที่จะทำให้เราเล่นสกีได้เก่งขึ้นก็คือการฝึก ฝึกเล่นให้บ่อยที่สุด ไม่ใช่แค่สกีแต่กับกีฬาอื่น ๆ ด้วย ใน season เดียวผมเล่นสกีไปมากถึง 15 ครั้ง สำหรับผมถือว่าเยอะมากนะ (ใช้เงินเยอะมากเช่นกัน 555) เล่นสัปดาห์ละครั้งคือช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือบางสัปดาห์ก็เล่น 2 วันเลย แล้วก็ช่วงวันหยุดก็เล่น เช่น วันหยุดยาวอีสเตอร์ พูดง่าย ๆ คือถ้าว่างและอากาศดีก็จะเตรียมไปเล่นทันที

ตาม playlist ด้านบนที่ผมแปะไว้ จะเห็นว่าผมแบ่ง playlist ออกเป็น 5 อันโดยเริ่มตั้งแต่ basic ก่อนเลย ต้องเข้าใจหลักการทำงานของสกีก่อน แล้วก็มีวิดีโอสอนใส่ ski boots ด้วยซึ่งก็สำคัญ ถ้าหากว่าใส่ไม่ถูกก็จะทำให้เล่นสกีไม่สนุกและอาจจะมีอาการปวดได้ ดังนั้นการเลือก ski boots ที่สวมแล้วพอดีกับเท้าของเราจึงสำคัญมาก แล้วก็มีวิดีโอที่สอนพื้นฐานหรือท่าต่าง ๆ ตั้งแต่การ ski ไปข้างหน้า การเลี้ยวซ้าย/ขวา การควบคุมความเร็ว การเบรค ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานที่วันแรกเราควรจะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจก่อน

ส่วน playlist อันที่ 2 นั้นก็มีเฉพาะวิดีโอที่สอน parallel turn หรือการเลี้ยวแบบที่สกีจะต้องขนานไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถือว่าเป็นท่าที่สำคัญที่สุดของสกีเลยก็ว่าได้ เพราะว่าถ้าหากเราไปเล่นบน slope จริง ๆ แล้วเราจะเคลื่อนที่ไปเร็วมาก ดังนั้นการเลี้ยวแบบ snow plough จึงอาจจะไม่พอ คือวันแรก ๆ ที่ผมหัดท่า parallel turn ผมจะมีปัญหาเรื่องของ skidding ตลอดเลย (skid ก็คือการลื่นไถลไป ประมาณว่าไม่ smooth) ซึ่งสุดท้ายแล้วผมมาค้นพบจากการดูคลิปของ Paul Lorenz นักสกีชาวออสเตรเลีย ว่าการเลี้ยวแบบ parallel turn นั้น หัวใจสำคัญคือการถ่ายน้ำหนักก่อนที่จะเลี้ยว ซึ่งผมขอบอกเลยว่าสุดท้ายแล้ว สกีก็คือการถ่ายโอนน้ำหนักระหว่างขาสองข้างไปมา ซึ่งปกติแล้วเวลาเราจะเลี้ยว เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าถ้าเราอยากเลี้ยวซ้ายก็ต้องถ่ายน้ำหนักไปยังขาขวา ถ้าอยากเลี้ยวขวาก็ต้องถ่ายน้ำหนักไปยังขาซ้าย โดยเราเรียกขาด้านที่ตรงข้ามกับการเลี้ยว (ขาที่เราถ่ายน้ำหนักไป) ว่า outside leg ส่วนขาที่อยู่ด้านในเรียกว่า inside leg (บางคนก็อาจจะเรียก uphill ski หรือ downhill ski) นั้นในคลิปที่ Paul สอนนั้นผมขอสรุปสั้น ๆ ว่าในการที่จะเลี้ยวนั้น "เราจะต้องถ่ายน้ำหนักไปยัง outside leg ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยว ไม่ใช่ถ่ายน้ำหนักไปตอนที่เลี้ยว" ใช่แล้วครับ ถ้าหากเราถ่ายน้ำหนักหรือ weight transfer ไปตอนที่เรากำลังเลี้ยว มันจะมีโมเมนตัมเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งถ้าหากไปรวมกับแรงเหวี่ยงที่เกิดจากการหมุนตัวของเราแล้ว มันจะทำให้มีโมเมนตัมที่เกิดขึ้นที่สกีเยอะไป ดังนั้นการเลี้ยวจะไม่ smooth (ยกเว้นสำหรับกรณีที่เป็น short turn นะ ซึ่งอันนั้นจะต้องอาศัยการ skidding เข้ามาช่วยด้วย) แล้วในจังหวะที่เรากำลังเลี้ยวนั้น ให้เราออกแรงไปที่ inside leg เพื่อยก downhill ski ขึ้นมาหน่อยนึง เพื่อที่ว่าเราจะทำให้สกีนั้นแบนราบขนานไปกับพื้นได้ (เรียกว่า flatten ski) แล้วเราก็ดึง inside ski เข้ามาชิดกับ outside ski ถ้าหากว่าเราทำทุกอย่างพร้อมกันในเวลาประมาณ 1 วินาที เราก็จะได้ parallel turn นั่นเอง

พอผมดูคลิปของ Paul แล้วเอามาทำตาม โอ้โห เปลี่ยนจากหลัง__เป็นหน้ามือเลยครับ ผมสามารถลองฝึก parallel turn ได้ smooth มากขึ้น นอกจากนั้นผมก็ยังดูคลิปอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อฝึกการเลี้ยวแบบต่าง ๆ เช่นดู playlist อันที่ 3 ที่เป็นเรื่องของ short turn ซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่า short turn นั้นเราจะได้ใช้เยอะมาก ๆ บน slope ที่มีความชันเยอะ ๆ เช่น black slope แล้วมันก็เป็นท่าแบบนึงที่ได้รับความนิยมมาเช่นกัน

ส่วน playlist อีกสองอันก็คือ carving กับ techniques การเล่นสกีแบบต่าง ๆ นั้นอันนี้จะอยู่ในขั้นของ advanced แล้ว ซึ่งผมตั้งใจว่าอยากจะฝึกใน season 2023/2024 นี้ โดยตอนนี้ผมได้นั่งไล่ดูคลิปที่สอนการเลี้ยวแบบ carving ทั้งแบบ medium turn, long turn มาเยอะพอสมควรแล้ว พอจะจับหลักการได้บ้าง ทั้งการจัดท่าทางช่วง upper body รวมถึงการออกแรงในขณะที่ carve โดยถ้าอยากจะฝึก carving ผมจะต้องหา slope ที่กว้างหน่อย มีความชันที่ไม่เยอะเกินไป แล้วก็ต้องมีคนเล่นสกีไม่เยอะ ไม่งั้นอาจจะเกิดอันตรายได้

ใน playlist ของ techniques นั้นผมเอาวิดีโอที่สอนเคล็ดลับต่าง ๆ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน มีทั้งสอนการเบรคแบบ hockey stop, การจับ ski pole, สอนเทคนิคการ ski ใน powder เป็นต้น ก็ลองไปดูกันได้ครับ

5. เผชิญหน้าและท้าทาย

Ski-2 พอผมเล่น blue slope ได้แล้วมันก็เริ่มอยากหาความท้าทายเพิ่ม ก็เหมือนคนอื่นแหละครับ เป้าหมายถัดไปคือ red slope ซึ่งก็คือการเล่นสกีบน slope สำหรับระดับปานปลาง มีความชันมากกว่า blue slope ประมาณ 10-20% โดย red slope แรกที่ผมได้ลองเล่นคือที่ Engelberg จริง ๆ วันนั้นที่ไปเล่นก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปเล่น red slope หรอก แต่ว่า blue slope ที่ผมเล่นมันมีทางแยก 2 ทาง คือทางนึงก็ไป blue slope ต่อ ส่วนอีกทางนึงก็คือ red slope ระยะทางประมาณ 300 เมตรน่าจะได้ ผมไปกับเพื่อนชาวฝรั่งเศส เค้าก็โน้มน้าวให้ผมลองเล่น red slope ลงมา ครั้งแรกคือตื่นเต้นมาก เพราะก่อนที่เราจะสกีลงมานั้น ผมลองไปข้างคือชันมาก ๆ ถ้าลงไปต้องล้มแน่นอน แต่พอตั้งสติได้ จังหวะที่ตัดสินใจออกมาลงมา ก็รวบรวมความกล้าและนึกถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่พอมีอยู่ค่อย ๆ สกีลง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ สุดท้ายผมค้นพบว่าจริง ๆ แล้ว red slope มันก็แค่ชันกว่า blue slope ทำให้ความเร็วของเรามันเร็วมากกว่าตอนที่สกีบน blue slope เราก็ต้องพยายามควบคุมความเร็วในขณะที่เราเลี้ยว ถ้าเราฝืนเลี้ยวมากไปมันก็จะ skidding แต่ถ้าเราควบคุมความเร็วไม่ได้สุดท้ายเราก็จะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็อาจจะเสียหลักแล้วก็ล้มหรือไปชนคนอื่นได้

ตามคำกล่าวที่ว่า "พอมีครั้งแรกแล้วก็จะมีครั้งต่อ ๆ ไป" คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลยและผมเห็นด้วยมาก ๆ เพราะว่าหลังจากที่ผมได้สกีบน red slope ครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นผมก็เล่น red slope มาเรื่อย ๆ ก็ยังมีเกร็ง ๆ บ้างในช่วงแรก ๆ แล้วการเล่นสกีของผมก็ดำเนินมาถึงช่วงท้าย ๆ season ของ winter 2022/2023 ประมาณเดือนเมษายน ช่วงนั้นผมไปเล่นสกีกับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่ Andermatt วันนั้นอากาศดีมาก มองเห็น slope ชัดเจน แต่ว่าถ้าเป็นบริเวณด้านบนยอดเขาตรง ski lift ก็จะค่อนข้าง foggy หน่อย แล้ววันนั้นเพื่อนผมนึกยังไงไม่รู้ ชวนผมเล่น black slope ลงมา โอ้ววว ตื่นเต้นมากครับ หัดเล่น black slope ครั้งแรก เพราะว่าตอนที่เรานั่ง ski lift ขึ้นมาผมก็เห็นแล้วมันชันแค่ไหน ผมก็รวบรวมสติอยู่พักใหญ่เลย ประมาณ 5 นาทีได้.. 5 นาทีนี่เหมือนไม่นานนะ แต่ ณ โมเมนต์ตอนนั้นคือมันนานมาก ๆ ก็เลยตัดสิน ski ลงมากับเพื่อน แล้วในที่สุดผมก็ทำได้!! สกีลงมาถึงด้านล่างได้อย่างปลอดภัย แต่ว่าก็ทุลักทะเลพอสมควร ไม่ได้เล่นยาวลงมา มีแวะหยุดพักบ้างประมาณ 2-3 รอบระหว่างทางบน slope ความรู้สึก ณ ตอนนั้นคือมีทั้งความมันส์และสะใจกับตัวเองพร้อม ๆ กัน ไม่คิดเลยว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ หลังจากทริป Andermatt ผมก็มีโอกาสได้ไปลอง black slope อีก 2 ที่ ก็คือที่ Arosa กับที่ Parsenn (Davos) ซึ่งเป็น resort ที่ผมไปปิด ski season นั่นเอง

6. เขาหาว่าผมบ้า!

คือผมไม่อยากจะเชื่อตัวเองเลยว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ จุดที่เราหลงรักกีฬาชนิดนี้ไปแล้ว มันมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ใส่ ski boots และจับสกี ทุกครั้งที่พุ่งตัวออกจาก ski lift มันเหมือนมีการผจญภัยที่รอเราอยู่ ได้เคลื่อนไหวไปบนหิมะ พร้อมกับเห็นวิวอันสวยงามของภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ แนวเขาที่สลับกันไปมาสุดลูกหูลูกตา การเล่นสกีมันเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากจุดที่เราอาจจะมีความกลัวมากที่สุด มาถึงโมเมนต์ที่เราตัดสินใจเริ่มสกี แล้วก็มาถึงจุดที่เราพบว่าความสนุกมันผ่านไปอีกครั้งนึงแล้ว ตอนนี้ผมได้หลงรักกีฬาชนิดนี้ไปแล้ว

ในช่วงที่เล่นสกี วันธรรมดาช่วงที่ผมว่าง ๆ ผมก็จะนั่งดูคลิปคนที่เล่นสกี มันให้ฟีลลิ่งเหมือนเราไปอยู่ ณ จุด ๆ นั้นด้วย แล้วมันก็ทำให้เรา recall หรือนึกถึงโมเมนต์ที่เราก็เคยไปอยู่ ณ จุด ๆ นั้นมาเหมือนกัน ช่วงหน้าสกีผมก็ชวนเพื่อนหรือคนที่ผมรู้จักไปเล่นสกีตลอดทุกสัปดาห์เลย จนบางคนเริ่มรำคาญ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมชอบสกีน้อยลงแม้แต่นิดเดียว กดติดตาม channel ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสกีใน YouTube แล้วก็ page ต่าง ๆ บน Instagram แล้วก็ Facebook เคยมีไปเล่นคนเดียวครึ่งนึง อยู่ดี ๆ นึกยังไงไม่รู้ ผมไม่ได้ชวนใครไปเลย ตัดสินใจซื้อ ski pass ออนไลน์ แล้วก็ตัวรถไฟแล้วก็นั่งไปเล่นเองคนเดียว จนถึงทุกวันนี้คนก็จะแซวผมตลอดเกี่ยวกับเรื่องสกี แต่ทำไงได้ ถ้าหากว่าเรามีโอากาสที่ทำอะไรก็ตามที่มันทำให้เรามีความสุข แล้วเราไม่ทำมัน เราอาจจะมานั่งเสียใจทีหลังก็ได้ที่เราปล่อยให้ช่วงเวลานั้นผ่านพ้นไป

7. เรียนรู้และส่งต่อ

พอผมเล่นสกีได้แล้วผมก็อยากส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นบ้าง อยากให้เพื่อน ๆ ของผมได้รู้ว่าสกีมันสนุกแค่ไหน แน่นอนว่าเราไม่ได้เกิดมากับหิมะ ถ้าจะให้เล่นเป็นได้ตั้งแต่วันแรกเลยก็คงจะยากเกินไป แต่ว่าเราสามารถฝึกฝนกันได้ ผมบอกทุกคนเสมอว่าผมไม่ได้เล่นเก่งอะไรเลย ผมก็เริ่มจาก 0 เหมือนกันคนอื่น เผลอ ๆ อาจจะเริ่มจากติดลบด้วยซ้ำเพราะว่าผมเคยเกลียดการเล่นสกีมาก่อน แต่พอผมได้ว่าลองเล่นสกีอีกทีและเรียนรู้การเรียนอย่างถูกวิธีตามที่เขียนอธิบายไปด้านบน ผมก็พบว่าเราทุกคนสามารถฝึกฝนเรียนรู้สกีได้ และผมก็อยากให้ทุกคนได้สัมผัสความรู้สึกนั้น ความรู้สึกที่นั่ง ski lift ขึ้นไปบนยอดเขาสูง ๆ แล้วเห็นวิวสวย ๆ ความรู้สึกที่สกีไปบนหิมะนุ่ม ๆ ความรู้ที่เราได้สนุกกับการสกีบน slope และความรู้สึกที่เราเล่นสกีไปด้วย พอเหนื่อยแล้วก็มาอาหารอะไรอุ่น ๆ กินหรือดื่มอะไรเย็น ๆ เพื่อแก้กระหาย มันเป็นความรู้สึกและประสบการณ์ที่ผมอยากให้ทุกคนได้รู้จริง ๆ ว่ามันสุดยอดแค่ไหน ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมาเล่นสกี แต่ถ้ามีโอกาสสักครั้งก็อยากให้มาลองครับ ไม่แน่ว่าเพื่อน ๆ อาจจะชอบสกีเหมือนผมก็ได้

แน่นอนว่าพอเราเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วเราก็ไม่อยากให้คนอื่นเจอข้อผิดพลาดเดียวกันกับเรา ผมเลยมีความตั้งใจที่อยากจะสอนสกีให้เพื่อน ๆ ที่อยากหัดเล่นสกี ผมก็ไม่ได้ถือตัวว่าเล่นเก่งอะไร สิ่งที่ผมสอนหรือแนะนำให้เล่นสกีอย่างถูกต้องผมก็เอามาจากที่ผมศึกษามาจากการดูวิดีโอบน YouTube, อ่านบทความ หรือ Blog ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสกี ผมไม่ได้มโนมันขึ้นมาเอง การเล่นสกีมันคือกีฬาอย่างนึงที่เราสามารถใช้หลักการทางฟิสิกส์มาอธิบายได้ หลายคนอาจจะคิดว่าเนิร์ดไป แต่จริง ๆ แล้วมันคือฟิสิกส์เลย ดังนั้นหลาย ๆ ครั้งที่คนที่เพิ่งเริ่มเล่นสกีใหม่ ๆ มักจะมองข้ามพื้นฐานไปแล้วก็ข้ามขั้นตอนไปเล่นสกีเลยโดยที่ยังไม่เข้าใจว่ามันมีหลักการยังไง

ผมได้มีโอกาสสอนเพื่อนประมาณ 2 คนให้เล่นสกีได้ ความรู้สึกที่เพื่อนผมพอเล่นสกีได้แล้วมันเป็นความภาคภูมิใจของเราอย่างบอกไม่ถูก คือมันเป็นรู้สึกที่เราก็ไม่คิดเหมือนกันว่าเราจะมีวันนี้ จากคนที่ไม่ชอบสกีเลยกลายมาเป็นคนที่ได้พอมีโอกาสแนะนำการเล่นสกีให้กับคนอื่น พอคนที่เราสอนเล่นสกีได้แล้วเราก็มีความสุขมาก ๆ แล้วก็ผมจะไม่หยุดที่จะเรียนรู้อยู่แค่นี้ จะพยายามเรียนรู้และฝึกฝนเรื่อย ๆ และผมมี project ใหญ่ที่ผมตั้งใจและสัญญาไว้กับตัวเองว่าจะทำให้ได้ใน winter season 2023/2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้ แต่ว่าขออุบไว้ก่อน แล้วไว้จะมาแชร์ให้อ่านกันอีกที

8. บทเรียนอันล้ำค่า

"ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" หนึ่งในคำคมยอดฮิตที่ทุกคนรู้จักกันดี สำหรับผมมันคือเรื่องจริงสุด ๆ เพราะผมเจอมากับตัวเอง ในการทำอะไรสักอย่างนึง ขอแค่เราให้ความใส่ใจและพยายามกับมัน ใครจะแซวใครจะเหน็บอะไรก็ไม่ต้องไปแคร์ เปลี่ยนมันเป็นแรงผลักดัน แล้ววันนึงความสำเร็จอันหอมหวานก็พร้อมจะให้เราได้เชยชิมอย่างแน่นอน ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเล่นสกีก็ได้ คำพูดนี้มันใช้ได้กับทุก ๆ อย่างที่เราอยากลงมือตั้งใจทำมันสักครั้ง

"Better late than never" ไม่มีคำว่าสายเกินไป แน่นอนว่าผมเพิ่งมาหัดเล่นสกีตอนอายุจะ 30 แล้ว เราไม่ได้เกิดหรือโตมากับหิมะ สิ่งที่เราต้องทุ่มเทมากกว่าเพื่อนฝรั่งคนอื่น ๆ ที่เค้ามีทักษะด้านกีฬามากกว่าเราก็คือความพยายามในการฝึกซ้อม แล้วก็ยังมีคำกล่าวอันอันนึงก็คือ "อะไรที่ทำแล้วมีความสุขและไม่เดือนร้อนใครก็ทำไปเถอะ ไม่ต้องสนใจใคร" นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้เอง เราไม่ต้องสนใจใครหรอก อะไรที่ทำแล้วมีความสุขก็ทำไปเลย เงินของเรา ใช้มันเพื่อซื้อความสุขซะ มีคำกล่าวว่า "You can't buy happiness, but you can buy skipass" 5555+ จริงครับ

หลายคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ (หรือคนที่ยังไม่เริ่มอ่านเลย) สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ "ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ และถ้าผมทำได้ คุณก็ต้องทำได้ด้วยเช่นกัน" ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่ต้องพยายาม และไม่มีอะไรที่ยากเกินความพยายามของเรา ไม่ใช่แต่กับแค่การเล่นสกี แต่รวมไปถึงการเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยหรือไม่กล้าที่จะลองทำด้วย ขอแค่เราเริ่มที่จะทำมันและทำมันไปเรื่อย ๆ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน สักวันนึงเราจะถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน นี่คือ lesson of life ที่ผมได้เรียนรู้จากการทำสิ่งใหม่ ๆ และจำไว้ครับว่า "Consistency is key"


ขอให้มีความสุขกับการเล่นสกี แล้วเจอกันบน slope ครับ :)